วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

สระบุรี

" พระพุทธบาทลือนาม แหล่งน้ำอุดม นมเนื้อมากมาย หลากหลายโรงงาน ถิ่นข้าวสารพันธุ์ดี
มีมะม่วงรสเลิศ งามบรรเจิดธรรมชาติ "

สระบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญในด้านโบราณสถานทางพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ ประเพณี และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งยังอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 107 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปกลับได้ภายในวันเดียว สระบุรีจึงเป็นจังหวัดหนึ่งที่น่าท่องเที่ยวและศึกษาหาความรู้


สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปมีลักษณะดังนี้ ตอนเหนือ ตะวันออก และตอนกลาง ของจังหวัดเป็นป่า มีเนินเขาสลับที่ราบสูง ซึ่งเหมาะในการปลูกพืชไร่ ตอนใต้และตะวันตกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเหมาะในการทำนา แม่น้ำที่สำคัญมีเพียงสายเดียว คือแม่น้ำป่าสัก ซึ่งนับว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของจังหวัดสระบุรี โดยอาศัยน้ำใช้ในการเกษตรและประโยชน์อย่างอื่น แม่น้ำป่าสักไหลผ่านอำเภอมวกเหล็ก แก่งคอย อำเภอเมือง เสาไห้ ไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คิดเป็นความยาวประมาณ 105 กิโลเมตร นอกจากนั้นสระบุรียังมีคลองที่สำคัญๆ หลายสาย เช่น คลองรพีพัฒน์ คลองเริงราง คลองวิหารแดง และคลองเพรียว เป็นต้น

อาณาเขตและการปกครอง

สระบุรี มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดลพบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดปทุมธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมา และนครนายก
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สระบุรี มีพื้นที่ทั้งหมด 3,576.5 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ กับอีก 1 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอหนองแค อำเภอวิหารแดง อำเภอหนองแซง อำเภอมวกเหล็ก อำเภอบ้านหมอ อำเภอพระพุทธบาท อำเภอเสาไห้ อำเภอหนองโดน อำเภอดอนพุด และกิ่งอำเภอวังม่วง

เชียงใหม่

" ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผาชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์ "

เชียงใหม่ นพบุรี ศรีนครพิงค์ หรือเวียงพิงค์ ของพ่อ ขุนเม็งรายมหาราชในอดีต หรือเชียงใหม่ในวันนี้เป็นเมืองที่ รวบรวมศิลปกรรม โบราณวัตถุ ตลอดจนวัฒนธรรมดั้งเดิม ของลานนาไทยเอาไว้ ส่วนสภาพทางภูมิศาสตร์นั้น พื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นป่าละเมาะและภูเขา เนื้อที่ ประมาณ 20,107 ตารางกิโลเมตร มีที่ราบอยู่ตอนกลาง ตามสองฟากฝั่งแม่น้ำปิง

เชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ในตำนานแรกๆ ที่กล่าวถึงเชียงใหม่ อย่างตำนานว่าด้วยพระธาตุในล้านนา กล่าวถึง ลัวะ ว่าเป็นชนพื้นเมืองมาก่อน ตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์และจามเทวีวงศ์ กล่าวเปรียบเทียบลัวะ ว่าเป็นคนเกิด ในรอยเท้าสัตว์ ด้วยเหตุที่ ลัวะ ถือเอารูปสัตว์เป็นสัญลักษณ์ ตำนานรุ่นหลังอย่างตำนานสุวรรณคำแดง หรือ ตำนานเสาอินทขิล เล่าว่า ลัวะ เป็นผู้สร้าง เวียงเจ็ดลิน เวียงสวนดอก และเวียงนพบุรี หรือ เชียงใหม่ ลัวะ จึงน่าจะเป็นชนกลุ่มแรก ที่สร้างเมือง แต่ก่อนหน้านี้ ก็คงมีมนุษย์อาศัยอยู่ที่นี่ก่อนแล้ว แต่ยังไม่เป็นเมืองเต็มรูปแบบ

ในขณะเดียวกัน ที่ลำพูน ก็มีเมืองชื่อหริภุญไชย ตามตำนานการสร้างเมืองเล่าว่า พระนางจามเทวีวงศ์ ธิดากษัตริย์เมืองละโว้ เสด็จขึ้นมาครองหริภุญไชยใน พ.ศ.1310-1311 ครั้งนั้น พระนางได้พาบริวาร ข้าราชบริพาร ที่เชี่ยวชาญ ในศิลปวิทยาการต่างๆ ขึ้นมาด้วย หริภุญไชยจึงได้รับเอาพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ละโว้ มาใช้ในการพัฒนาจนเจริญขึ้นเป็นแคว้นใหญ่ จวบจนประมาณปี พ.ศ.1839 พญามังราย ผู้สืบเชื้อสายมาจากปู่เจ้าลาวจก หรือ ลวจักราช เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ลาว ครองเมืองเงินยาง ซึ่งได้แผ่อำนาจครอบคลุมลุ่มแม่น้ำกก และได้สร้างเวียงเชียงราย ขึ้นเป็นกองบัญชาการ ซ่องสุมไพร่พล เพื่อยึดครองหริภุญไชย เนื่องจากหริภุญไชย เป็นเมืองศูนย์กลางความเจริญ และเป็นชุมทางการค้า

พญามังรายได้เข้ายึดครองหริภุญไชย แล้วประทับอยู่เพียง 2 ปี ก็ทรงย้ายไปสร้างเวียงกุมกาม ใน พ.ศ.1837 ก่อนจะย้ายมาสร้าง เวียงเชียงใหม่ ใน พ.ศ.1839 โดยได้ร่วมกับพระสหายคือ พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหง สถาปนา "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ขึ้น

พญามังรายได้พัฒนาเมืองเชียงใหม่ ทั้งการก่อสร้างวัดวาอาราม มีการตรากฏหมายที่เรียกว่า "มังรายศาสตร์" รวมถึง รับเอาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ เข้ามาเผยแผ่ ในอาณาจักร ซึ่งทำให้พระภิกษุ ในล้านนา สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก สมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 9 อาณาจักรล้านนา ได้ขยายออกไปอีกอย่างกว้างขวาง พร้อมกับได้ผูกสัมพันธไมตรี กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในสมัยของพระเจ้าติโลกราชนี้เอง ที่ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

อาณาจักรล้านนาเริ่มเสื่อมลงไปปลายสมัยพญาเมืองแก้ว เนื่องจากทำสงครามกับเชียงตุง พ่ายแพ้เสียชีวิตไพร่พลเป็นอันมาก ประกอบกับเกิดอุทกภัย กระทบถึงความมั่นคงของอาณาจักร เมืองในการปกครองเริ่มตีตัวออกห่าง พ.ศ.2101 ในสมัยมหาเทวีจิรประภา กษัตริย์องค์ที่ 15 พม่าได้ยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ เพียง 3 วันก็เสียเมือง และกลายเป็นเมืองขึ้นของพม่ายาวนานถึง 216 ปี

ต่อมาในปี พ.ศ.2317 พญาจ่าบ้านและพระเจ้ากาวิละ ได้ร่วมกันต่อต้านพม่า และอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ยกทัพมาขับไล่พม่าพ่ายแพ้ไป ต่อมาในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงแต่งตั้งพระเจ้ากาวิละ ขึ้นครองเมือง ในฐานะเมืองประเทศราช พระเจ้ากาวิละ ได้ฟื้นฟูเชียงใหม่จนมีอาณาเขตกว้างขวาง การค้าขายรุ่งเรือง ขณะเดียวกันก็ได้จัดส่งบรรณาการ ส่วยสิ่งของและอื่นๆ ให้แก่กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งยังมีอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าเมืองและขุนนางระดับสูง

ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่ออิทธิพลตะวันตกแผ่เข้ามาในเมืองไทย มีการปฏิรูปการปกครอง โดยผนวกดินแดนล้านนาเข้ามาเป็นมณฑลพายัพ แต่ก็ยังเป็นเมืองประเทศราชในอาณัติราชอาณาจักรสยาม ตรงกับรัชสมัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ และรัชกาลที่ 5 ได้ทรงขอเจ้าดารารัศมี ธิดาของเจ้าอินทวิชยานนท์ไปเป็นชายา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

เมื่อมีการสร้างทางรถไฟขึ้นในเวลาต่อมา ส่งผลให้เมืองเชียงใหม่ ขยายตัวยิ่งขึ้น และใกล้ชิดกรุงเทพฯ มากขึ้น ในปี พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มณฑลเทศาภิบาลถูกยกเลิก เชียงใหม่มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่ง หลังจากนั้นเชียงใหม่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนมีความสำคัญรองจากกรุงเทพฯ เท่านั้น

อาณาเขต :
ทิศเหนือ ติดกับรัฐเชียงตุงของประเทศพม่า
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดลำพูน และ จังหวัดตาก
ทิศตะวันออก ติดกับ จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงราย และ จังหวัดลำพูน
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน

จังหวัดเชียงใหม่ แบ่งการปกครองออกเป็น 22 อำเภอและ 2 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอหางดง อำเภอแม่แตง อำเภอสารภี อำเภอสันกำแพง อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอเชียงดาว อำเภอสันทราย อำเภอฝาง อำเภอฮอด อำเภออมก๋อย อำเภอพร้าว อำเภอแม่ริม อำเภอสะเมิง อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอสันป่าตอง อำเภอแม่อาย อำเภอดอยเต่า อำเภอเวียงแหง อำเภอไชยปราการ อำเภอแม่วาง กิ่งอำเภอแม่ออน และกิ่งอำเภอดอยหล่อ

ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ
อำเภอแม่ริม 8 กิโลเมตร
อำเภอสารภี 10 กิโลเมตร
อำเภอสันทราย 12 กิโลเมตร
อำเภอสันกำแพง 13 กิโลเมตร
อำเภอหางดง 15 กิโลเมตร
อำเภอดอยสะเก็ด 18 กิโลเมตร
อำเภอสันป่าตอง 22 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอแม่ออน 29 กิโลเมตร อำเภอแม่วาง 35 กิโลเมตร
อำเภอแม่แตง 40 กิโลเมตร
อำเภอสะเมิง 54 กิโลเมตร
อำเภอจอมทอง 58 กิโลเมตร
อำเภอเชียงดาว 68 กิโลเมตร
อำเภอฮอด 88 กิโลเมตร
อำเภอพร้าว 103 กิโลเมตร
อำเภอดอยเต่า 121 กิโลเมตร
อำเภอไชยปราการ 131 กิโลเมตร
อำเภอเวียงแหง 150 กิโลเมตร
อำเภอฝาง 154 กิโลเมตร
อำเภอแม่แจ่ม 156 กิโลเมตร
อำเภอแม่อาย 174 กิโลเมตร
อำเภออมก๋อย 179 กิโลเมตร

กระบี่

"หอยเก่า เขาตระหง่าน ธารสวย รวยเกาะเพาะปลูกปาล์ม งามหาดทรายใต้ทะเลสวยสด มรกตอันดามัน"กระบี่ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน จากหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานได้ว่า บริเวณเมืองกระบี่เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ กล่าวกันว่าดินแดนนี้แต่เดิมคือเมืองบันไทยสมอ 1 ใน 12 เมืองนักษัตร ที่ใช้ตราลิงเป็นตราประจำเมือง ขึ้นกับอาณาจักรนครศรีธรรมราช

นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐาน เกี่ยวกับชื่อเมืองกระบี่ว่า อาจมาจากความหมายที่แปลว่าดาบ เนื่องจากมีตำนานเล่าสืบต่อกันมา เกี่ยวกับการขุดพบมีดดาบโบราณ ก่อนที่จะสร้างเมือง อันเป็นที่มาของสัญลักษณ์จังหวัดกระบี่ในปัจจุบัน


ลักษณะภูมิประเทศ

กระบี่ ประกอบด้วยภูเขา ที่ดอน ที่ราบ และหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 130 เกาะ ที่อุดมไปด้วยป่าชายเลน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนทรายและดินร่วน จึงเหมาะแก่การทำสวนยางพารา สวนปาล์ม สวนมะม่วงหิมพานต์ สวนกาแฟ สวนมะพร้าว บริเวณตัวเมืองมีแม่น้ำกระบี่ยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ไหลผ่านลงสู่ทะเลอันดามันที่ตำบลปากน้ำ นอกจากนี้ ยังมีคลอง ปกาสัย คลองกระบี่ใหญ่ และคลองกระบี่น้อย ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดกระบี่ คือ เทือกเขาพนมเบญจา

กระบี่ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ จึงมีเพียง 2 ฤดูเท่านั้น คือ ฤดูร้อนซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน และฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงธันวาคม


อาณาเขตติดต่อและการปกครอง

กระบี่ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครตามเส้นทางถนนเพชรเกษม (หมายเลข 4) ประมาณ 814 ก.ม. มีเนื้อที่ประมาณ 4,708 ตาราง ก.ม. โดยมีอาณาเขตดังนี้

ทิศเหนือ จดจังหวัดพังงาและสุราษฎร์ธานี
ทิศใต้ จดจังหวัดตรังและทะเลอันดามัน
ทิศตะวันออก จดจังหวัดตรังและนครศรีธรรมราช
ทิศตะวันตก จดจังหวัดพังงาและทะเลอันดามัน

จังหวัดกระบี่ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ ดังนี้คือ อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเขาพนม อำเภอคลองท่อม อำเภอปลายพระยา อำเภอลันตา อำเภออ่าวลึก กิ่งอำเภอลำทับ และกิ่งอำเภอเหนือคลอง

มหาสารคาม

" พุทธมณฑลอีสาน ถิ่นฐานอารยธรรม ผ้าไหมล้ำเลอค่า ตักศิลานคร "มหาสารคาม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีบรรยากาศเต็มไปด้วยความสงบ และเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ชื่อว่าเป็น “ตักศิลาแห่งอีสาน” เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาอยู่มากมายหลายแห่ง

อาณาเขตและการปกครอง
จังหวัดมหาสารคาม มีเนื้อที่ 5,291.68 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นที่ราบลูกคลื่นไม่มีภูเขา มีแม่น้ำชีไหลผ่าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดกาฬสินธุ์
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ด
ทิศตะวัน ตกติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น

อาชีพที่สำคัญของชาวมหาสารคามคือ การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ อาชีพในครัวเรือนที่ทำกันมากคือ การเลี้ยงไหม และทอผ้าไหม ผ้าไหมมหาสารคามส่วนใหญ่เป็นผ้าที่มีลวดลายแบบดั้งเดิม และสวยงามมาก

อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามทางรถยนต์เป็นระยะทางประมาณ 470 กิโลเมตร การปกครองแบ่งออกเป็น 10 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอกันทรวิชัย อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอวาปีปทุม อำเภอบรบือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอนาเชือก อำเภอเชียงยืน อำเภอนาดูน อำเภอแกดำ และกิ่งอำเภอยางสีสุราช

ระยะทางระหว่างอำเภอเมือง-อำเภอต่างๆ
อำเภอเมือง-อำเภอกันทรวิชัย 16 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอโกสุมพิสัย 28 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอวาปีปทุม 40 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอบรบือ 26 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย 84 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอนาเชือก 56 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอเชียงยืน 44 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอนาดูน 65 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอแกดำ 28 กิโลเมตร
อำเภอยางสีสุราช 70 กิโลเมตร

นนทบุรี

จังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่ในภาคกลางเป็นจังหวัดหนึ่งใน 5 จังหวัดปริมณฑล คือ นนทบุรีสมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร และปทุมธานี มีเนื้อที่ประมาณ 622 ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่า และแบ่งพื้นที่ของจังหวัดออกเป็น 2 ส่วน ขนาดของจังหวัดเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดในภาคกลางแล้ว มีขนาดเกือบจะเล็กที่สุดยกเว้นจังหวัดสมุทรสงคราม

เมืองนนทบุรีมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 400 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีคูคลองน้อยใหญ่มากมาย มีเนื้อที่ประมาณ 622.303 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองเก่าแก่ สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านตลาดขวัญ ซึ่งเป็นสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อในสมัยนั้น ได้รับการยกฐานะเป็นเมืองนนทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2092 รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ต่อมาในปี พ.ศ. 2179 พระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดตอนใต้วัดท้ายเมืองไปทะลุวัดเขมา เพราะเดิมนั้น แม่น้ำเจ้าพระยาไหลวกเข้าแม่น้ำอ้อมมาทางบางใหญ่วกเข้าคลองบางกรวยข้างวัดชลอ มาออกหน้าวัดเขมา เมื่อขุดคลองลัดแล้ว แม่น้ำก็เปลี่ยนทางเดินไหลเข้าคลองลัดที่ขุดใหม่ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ดังปัจจุบันนี้ เมื่อ พ.ศ. 2208 สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่า แม่น้ำเปลี่ยนทางเดินใหม่นั้น ทำให้ข้าศึกประชิดพระนครได้ง่าย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการตรงปากแม่น้ำอ้อม และโปรดฯ ให้ย้ายเมืองนนทบุรีมาอยู่ปากแม่น้ำอ้อมด้วย ยังมีศาลหลักเมืองปรากฏอยู่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ โปรดฯ ให้ย้ายเมืองนนทบุรี ไปตั้งที่ปากคลองบางซื่อบ้านตลาดขวัญ และในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้ตั้งศาลากลางเมือง ขึ้นที่ปากคลองบางซื่อ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงปี พ.ศ. 2471 รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดฯ ให้ย้ายศาลากลางมาตั้งที่ราชวิทยาลัย บ้านบางขวาง ตำบลบางตะนาวศรี ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองฝึกอบรม กระทรวงมหาดไทย ตั้งอยู่บนถนนประชาราษฎร์ สาย 1 อำเภอเมือง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปตามอาคารประดับด้วยไม้ฉลุ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่ง และในปัจจุบันศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ถนนรัตนาธิเบศร์

อาณาเขตและการปกครอง :
ทิศเหนือ ติดจังหวัดปุทมธานี และพระนครศรีอยุธยา
ทิศใต้ ติดกรุงเทพมหานคร
ทิศตะวันออก ติดกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปทุมธานี
ทิศตะวันตก ติดจังหวัดนครปฐม

แบ่งเขตการปกครองออกเป็น อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง อำเภอไทรน้อย

กาญจนบุรี

" แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์ มณีเมืองกาญจน์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว แหกาญจนบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางที่มีผู้คนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว เต็มไปด้วยเรื่องราวในอดีตที่น่าสนใจ เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่ตั้งของสะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น ป่าเขาลำเนาไพร ถ้ำหรือน้ำตก

กาญจนบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 129 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 19,473 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่ามีทั้งป่าโปร่ง และป่าดงดิบ มีแม่น้ำสำคัญสองสายคือ แม่น้ำแควใหญ่ และแม่น้ำแควน้อย ซึ่งไหลมาบรรจบรวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง ที่บริเวณอำเภอเมืองกาญจนบุรี กาญจนบุรีแบ่งการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอบ่อพลอย อำเภอเลาขวัญ อำเภอพนมทวน อำเภอไทรโยค อำเภอสังขละบุรี อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอท่ามะกา อำเภอท่าม่วง อำเภอทองผาภูมิ อำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอหนองปรือ และอำเภอห้วยกระเจา

ประวัติและความเป็นมา :
พื้นที่กว้างใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้ง จ.กาญจนบุรี ในปัจจุบัน มีประวัติความเป็นมา ที่ต่อเนื่อง และยาวนาน ประวัติ หน้าสุดท้ายของกาญจนบุรี ย้อนกลับไปเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์หน้าแรก ได้อย่างบังเอิญ เมื่อเชลยศึก ที่ถูกเกณฑ์ มาสร้างทางรถไฟคนหนึ่ง ค้นพบเครื่องมือหิน ของมนุษย์ ก่อนประวัติศาสตร์ ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟ บริเวณ สถานีบ้านเก่า ต.จระเข้เผือก อ.เมือง ทำให้เกิดการขุดค้นทางโบราณคดี และสามารถ ค้นพบหลักฐานของ มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก แม้จนถึงปัจจุบันยังขุดพบอยู่

ในสมัยทวารวดี ซึ่งอยู่ในสมัยประวัติศาสตร์ ของ ประเทศไทย พบซาก โบราณสถาน และ โบราณวัตถุ ที่ ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี (ปัจจุบัน เป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนเขาแหลม ) ซึ่งเป็นเจดีย์ ลักษณะเดียวกับ จุลประโทณเจดีย์ จ.นครปฐม เจดีย์ ที่บ้านคูบัว จ.ราชบุรี และที่เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี นอกจากนี้ ยังพบฐาน เจดีย์ และ พระพิมพ์ สมัยทวารดี จำนวนมาก ที่ บ้านท่าหวี ริมแม่น้ำแควใหญ่ ต.ลาดหญ้า อ.เมือง อีกด้วย แสดงว่าในสมัยนั้น พื้นที่ ริมแม่น้ำหลายแห่ง ซึ่งเป็นเส้นทาง คมนาคม สำคัญ มีชุมชน หรือ เมืองโบราณ ซึ่ง มีความสัมพันธ์ กับชุมชน โบราณ ใกล้เคียงกัน

ในสมัย พุทธศตวรรษ ที่ 16-18 ขอม ได้แผ่อิทธิพล เข้ามาใน ประเทศไทย ซึ่งพบหลักฐานสำคัญ คือ ปราสาทเมืองสิงห์ ซึ่งมีลักษณะเป็น ศิลปะขอม สมัยบายน มีอายุในช่วงสมัย พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในพุทธศตวรรษที่ 18 นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานที่เป็นศิลปะขอม สมัยเดียวกัน ที่เมืองครุฑ และ เมืองกลอนโด อ.ไทรโยค

ในสมัย สุโขทัย พบหลักฐาน ในพงศาวดารเหนือ ว่า กาญจนบุรี ตกเป็นเมืองขึ้น ของ สุพรรณบุรี ตามที่กล่าวว่า พญากง ได้มาครอง เมือง กาญจนบุรี แต่ก็ไม่มีหลักฐานอื่น มาสนับสนุน ต่อมา ในสมัย อยุธยา กาญจนบุรี มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ โดยตัวเมือง ตั้งอยู่ ที่บ้านท่าเสา ต.ลาดหญ้า ใกล้เขาชนไก่ และ ยังปรากฏ หลักฐาน เป็นซากโบราณสถาน และ โบราณวัตถุ ดังที่เห็นในปัจจุบัน

กาญจนบุรี ยังคงเป็นเมืองหน้าด่าน สืบเนื่องมาจนถึง สมัยกรุงธนบุรี และ รัตนโกสินทร์ โดย ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมือง กาญจนบุรี มาตั้งใหม่ ที่บ้าน ปากแพรก เพื่อมาตั้งรับทัพ พม่า ที่เดินทัพ ลงมาตามลำน้ำแม่กลอง เพื่อเข้าตี กรุงเทพฯ ได้มีการสร้างกำแพงล้อมรอบเมือง อย่างมั่นคง ใน สมัยรัชกาลที่ 3 และให้มีเจ้าเมือง คือ พระประสิทธิสงคราม นอกจากนั้น ยังตั้งหัวเมืองเล็กๆ ตามรายทาง เป็นหน้าด่านอีกเจ็ดแห่ง

สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการจัดรูปแบบการปกครองประเทศใหม่ เป็นมณฑลเทศาภิบาล เมือง กาญจนบุรี ถูกโอนมาขึ้นกับมณฑล ราชบุรี และ แบ่งการปกครองเป็นสามอำเภอ คือ อ.เมือง อ.เหนือ (ปัจจุบันคือ อ.ท่าม่วง) และ อ.ใต้ (ปัจจุบัน คือ อ.พนมทวน) และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2467 ได้ตั้งอำเภอเพิ่มอีกสองแห่ง คือ อ.ท่ามะกา และ อ.ทองผาภูมิ กับ กิ่ง อ.สังขละบุรี

ในช่วงสงคราม มหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่น ตัดสินใจสร้างทางรถไฟ สาย ไทย - พม่า เชื่อมจากสถานีหนองปลาดุก จ.ราชบุรี ผ่าน กาญจนบุรี เลาะริมแม่น้ำแควน้อย ไปเชื่อมกับ ทางรถไฟ ที่สร้างมาจาก พม่า ที่ด่านเจดีย์สามองค์ เป็นทางรถไฟ ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และมีผู้คนจำนวนมาก เดินทางมาเยี่ยมชม เพื่อคาราวะ ต่อดวงวิญญาณ ผู้เสียชีวิต และรำลึก ถึงความโหดร้าย ทารุณ ของสงคราม
ล่งแร่น้ำตก "
อาณาเขต :
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดตากและสหภาพเมียนม่าร์
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดราชบุรีและจังหวัดนครปฐม
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับสหภาพเมียนม่าร์

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ
อำเภอเมือง -- กิโลเมตร
อำเภอท่าม่วง 12 กิโลเมตร
อำเภอพนมทวน 24 กิโลเมตร
อำเภอท่ามะกา 30 กิโลเมตร
อำเภอด่านมะขามเตี้ย 30 กิโลเมตร
อำเภอบ่อพลอย 40 กิโลเมตร
อำเภอไทรโยค 50 กิโลเมตร
อำเภอห้วยกระเจา 64 กิโลเมตร
อำเภอหนองปรือ 75 กิโลเมตร
อำเภอเลาขวัญ 98 กิโลเมตร
อำเภอศรีสวัสดิ์ 102 กิโลเมตร
อำเภอทองผาภูมิ 145 กิโลเมตร
อำเภอสังขละบุรี 230 กิโลเมตร

สุพรรณบุรี

" เมืองยุทธหัตถี วรรณคดีขึ้นชื่อ เลื่องลือพระเครื่อง รุ่งเรืองเกษตรกรรม
สูงล้ำประวัติศาสตร์ แหล่งปราชญ์ศิลปิน ภาษาถิ่นชวนฟัง "

สุพรรณบุรี เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคกลาง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ มีพื้นที่ราบลุ่มตามแนวลำน้ำท่าจีน ส่วนใหญ่เป็นนาไร่และป่า ประชากรประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปทางทิศเหนือเป็นที่ราบ มีภูเขาบ้างเป็นบางตอนในท้องที่เดิมบางนางบวช และอู่ทองแต่เป็นภูเขาเล็กๆ ส่วนตอนใต้เป็นที่ราบลุ่มโดยตลอด ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือ มีป่าและภูเขามากในเขตอำเภอด่านช้าง

สุพรรณบุรี เป็นเมืองสมัยโบราณ พบหลักฐานทางโบราณคดี มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500-3,800 ปี โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก และสืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องมา ตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ ฟูนัน อมราวดี ทวารวดี ศรีวิชัย สุพรรณบุรีเดิมมีชื่อเรียกว่าเมือง "ทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ" หรือ "พันธุมบุรี"

นอกจากนี้ยังเป็นเมืองกำเนิดเรื่องขุนช้างขุนแผน อันเป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี และของชาติไทย ชื่อตำบล ชื่อบ้าน และชื่อสถานที่สำคัญอื่นๆ ในท้องเรื่องยังมีปรากฏอยู่ เช่น บ้านรั้วใหญ่ วัดเขาใหญ่ ท่าสิบเบี้ย ไร่ฝ้าย วัดป่าเลไลยก์ วัดแค อำเภออู่ทอง และอำเภอศรีประจันต์ เป็นต้น

อาณาเขตและการปกครอง :
ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดชัยนาท และจังหวัดอุทัยธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อจังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสิงห์บุรี
ทิศใต้ ติดต่อจังหวัดนครปฐม
ทิศตะวันตก ติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี

สุพรรณบุรี มีเนื้อที่ 5,358 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอบางปลาม้า อำเภอสองพี่น้อง อำเภออู่ทอง อำเภอสามชุก อำเภอดอนเจดีย์ อำเภอศรีประจันต์ อำเภอเดิมบางนางบวช อำเภอด่านช้าง และอำเภอหนองหญ้าไซ

สระแก้ว

" ชายแดนเมืองบูรพา ป่างาม น้ำตกสวย มากด้วยรอยอารยธรรมโบราณ ย่านการค้าไทย-เขมร "

สระแก้ว เป็นจังหวัดชายแดนด้านตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 220 กิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นชุมชนสำคัญที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุวรรณภูมิ และอาณาจักรทวาราวดี เดิมมีฐานะเป็นเมืองบริวารของปราจีนบุรี (เมืองประจิมในสมัยโบราณ) และปราจีนบุรีได้รับการยกฐานะให้เป็นจังหวัด เมื่อปี พ.ศ. 2476 เมื่อยกเลิกระบบเทศาภิบาล สระแก้วจึงกลายเป็นอำเภอหนึ่ง ของจังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาได้แยกตัว ออกมาจากปราจีนบุรี และได้รับการประกาศให้เป็นจังหวัดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536


อาณาเขตและการปกครอง :
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา


จังหวัดสระแก้วแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ และ 2 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ อำเภอตาพระยา อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอคลองหาด กิ่งอำเภอโคกสูง และกิ่งอำเภอวังสมบูรณ์ มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 7,195 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,496,961 ไร่

นครนายก

" เมืองในฝันที่ใกล้กรุง ภูเขางาม น้ำตกสวย รวยธรรมชาติ ปราศจากมลพิษ "

นครนายก สันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี หลักฐาน คือแนวกำแพงเนินดิน และสันคูเมืองที่ตำบลดงละคร แต่ชื่อ “นครนายก” นั้นปรากฏหลักฐานในสมัยอยุธยาว่า เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออก สมัยพระเจ้าอู่ทอง ในพ.ศ. 2437 รัชกาลที่ 5 ทรงจัดลักษณะการปกครอง เป็นมณฑลนครนายกได้เข้าไปอยู่ในเขตมณฑลปราจีนบุรี จนกระทั่ง พ.ศ. 2445 ทรงเลิกธรรมเนียมการมีเจ้าครองเมือง ให้มีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ขึ้นแทน และในช่วง พ.ศ. 2486-2489 ได้โอนนครนายกไปรวมกับจังหวัด ปราจีนบุรีและสระบุรี หลังจากนั้นจึงแยกเป็น จังหวัดนครนายก

นครนายก เดิมชื่อว่า “บ้านนา“ เล่ากันว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดินแดนของนครนายกเป็นป่ารกชัฏเป็นที่ดอน ทำนาหรือเพาะปลูกอะไร ไม่ค่อยได้ผลและมีไข้ป่าชุกชุม ผู้คนจึงอพยพไปอยู่ที่อื่นจนที่นี่กลายเป็นเมืองร้าง ต่อมาพระมหากษัตริย์ทรงทราบความเดือนร้อนของชาวเมืองจึงโปรดเกล้าฯ ให้เลิกภาษีนาเพื่อ จูงใจชาวเมืองให้อยู่ที่เดิมทำให้มีผู้คนอพยพมาอยู่เพิ่มมากขึ้น จนเป็นชุมชนใหญ่และเรียกเมืองนี้กันติดปากว่า “เมืองนายก”

อาณาเขต :
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสระบุรีและนครราชสีมา
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดปราจีนบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดปทุมธานี

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่าง ๆ
อำเภอปากพลี 9 กิโลเมตร
อำเภอบ้านนา 17 กิโลเมตร
อำเภอองครักษ์ 32 กิโลเมตร

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จนถึงปัจจุบัน ทรงพระสถานะเป็นประมุขแห่งรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พระองค์ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า "สมเด็จพระภัทรมหาราช" ซึ่งมีความหมายว่า "พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง" ต่อมาได้มีการถวายพระราชสมัญญาใหม่ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช" เมื่อ พ.ศ. 2530 และ "พระภูมิพลมหาราช" อนุโลมตามธรรมเนียมเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ที่ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า "พระปิยมหาราช" อนึ่ง ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์ว่า "ในหลวง" คำดังกล่าวคาดว่าย่อมาจาก "ใน (พระบรมมหาราชวัง) หลวง" บ้างก็ว่าเพี้ยนมาจากคำว่า "นายหลวง" ซึ่งแปลว่าเจ้านายผู้เป็นใหญ่
ทั้งนี้ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระชนมชีพอยู่และทรงอยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก และเสวยราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยเช่นกัน

ความหมายของพระนาม
ปรมินทร - มาจากการสนธิคำระหว่าง "ปรม (ป.,ส. : อย่างยิ่ง, ที่สุด) + อินฺทฺร (ส. , ป. อินฺท : ผู้เป็นใหญ่) " หมายความว่า "ผู้เป็นใหญ่ที่สุด" หรือ "ผู้เป็นใหญ่อย่างยิ่ง"
ภูมิพล - ภูมิ หมายความว่า "แผ่นดิน" และ พล หมายความว่า "พลัง" รวมกันแล้วหมายถึง "พลังแห่งแผ่นดิน"
อดุลยเดช - อดุลย หมายความว่า "ไม่อาจเทียบได้" และ เดช หมายความว่า "อำนาจ" รวมกันแล้วหมายถึง "ผู้มีอำนาจที่ไม่อาจเทียบได้

พระราชสมภพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชสมภพในราชสกุลมหิดลอันเป็นสายหนึ่งในพระบรมราชจักรีวงศ์ ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 เหตุที่มีพระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่นั่น
ทั้งนี้ ใกล้สถานที่พระบรมราชสมภพ มีจัตุรัสแห่งหนึ่งซึ่งนายกเทศมนตรีเมืองเคมบริดจ์ขอพระราชทานพระนามว่า “จัตุรัสภูมิพลอดุลยเดช” (King Bhumibol Adulyadej Square) เพื่อเป็นเกียรติแก่เมืองเคมบริดจ์และโรงพยาบาลอันเป็นที่พระราชสมภพ โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จไปทรงรับมอบการอุทิศจัตุรัสแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2533 ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิดผ้าแพรคลุมป้ายแผ่นจารึกพระราชประวัติ ณ ที่ดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระโอรสองค์ที่สามในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในกาลต่อมา) และหม่อมสังวาล ตะละภัฎ (ชูกระมล) (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในกาลต่อมา) ทรงมีพระนามขณะนั้นว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ทรงมีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า "เล็ก"
พระนาม "ภูมิพลอดุลเดช" นั้น พระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2470 โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า "Bhumibala Aduladeja" ซึ่งในระยะแรกสะกดเป็นภาษาไทยว่า "ภูมิพลอดุลเดช" ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเองทรงเขียนว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" โดยทรงเขียนทั้งสองแบบสลับกันไป จนมาทรงนิยมใช้แบบหลังซึ่งมีตัว "ย" สะกดตราบปัจจุบัน
ทั้งนี้ เดิมที ด้วยเหตุที่ได้รับตัวโรมันว่า "Bhumibala" สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงทรงเข้าพระทัยว่า ได้รับพระราชทานนามพระโอรสว่า "ภูมิบาล" ต่อมาจึงเปลี่ยนการสะกดเป็น "Bhumibol"
เมื่อ พ.ศ. 2471 ได้เสด็จกลับสู่ประเทศไทยพร้อมพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช โดยประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุไม่ถึงสองพรรษา

การศึกษา
พ.ศ. 2477 เมื่อเจริญพระชนมายุได้สี่พรรษา เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษา ณ "โรงเรียนแห่งใหม่ของซืออีสโรมองด์" (ฝรั่งเศส: École Nouvelle de la Suisse Romande, เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออีส โรมองด์) เมืองแชลลี-ซูร์-โลซาน (ฝรั่งเศส: Chailly-sur-Lausanne)
พ.ศ. 2477 เมื่อพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี ก็ทรงได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุยเดช" เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตประเทศไทย เป็นเวลา 2 เดือน โดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึงปี พ.ศ. 2488 ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ จากโรงเรียนยิมนาส คลาซีค กังโตนาล แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิทยาศาสตร์ โดยเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

เสด็จขึ้นครองราชย์
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน โดยต้องพระแสงปืนที่พระกระหม่อม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน[9] สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้ตัดสินพระทัยรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ สืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงทรงอำลาประชาชนชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ซึ่งจำเป็นสำหรับตำแหน่งประมุขของประเทศ
การตัดสินพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศไทยและคนไทยคลายความโศกเศร้า จากการที่ต้องเสียพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเท่านั้น แต่ยังทำให้ประเทศไทยได้พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ที่ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ ที่จะอุทิศพระวรกายและพระราชหฤทัยเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยว่า จะทรงครองราชสมบัติเฉพาะในช่วงการจัดงานพระบรมศพของพระบรมเชษฐาเท่านั้น เพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถพระที่นั่งเ สด็จพระราชดำเนินไปยังสนามบินดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนลั่นว่า "ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน" ทำให้ทรงนึกตอบบุคคลผู้นั้นในพระราชหฤทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้" เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจว่าต่อมาอีกประมาณ 20 ปี ขณะทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด ทรงได้พบชายผู้ร้องตะโกนคนนั้น ชายผู้นั้นกราบบังคมทูลว่า ที่เขาร้องตะโกนออกไปเช่นนั้นเพราะรู้สึกว้าเหว่และใจหาย เขาเห็นพระพักตร์เศร้ามาก จึงร้องไปเหมือนคนบ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอบว่า "นั่นแหละ ทำให้เรานึกถึงหน้าที่ จึงต้องกลับมา"
ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์
หลังจากที่จบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จไปเยือนกรุงปารีส ทรงพบกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งเป็นลูกสาวของเอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก[13] โดยที่ตอนนั้นทั้งสองพระองค์มีพระชนมายุเพียง 21 และ 15 พรรษาตามลำดับ
ในระหว่างประทับในต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ขณะที่พระองค์ทรงขับรถเฟียส ทอปอลิโน จากเจนีวาไปยังโลซาน ก็ได้ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ได้เข้ารักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลในเมืองโลซาน โดย ม.ร.ว. สิริกิติ์ ได้มีโอกาสเยี่ยมเป็นประจำจนหายประชวร นับตั้งแต่นั้นมาทั้งสองพระองค์ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครในปีถัดมา โดยประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" และในโอกาสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

ทรงผนวช
เมื่อ พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมณนามว่า ภูมิพโลภิกขุ และเสด็จฯ ไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างที่ผนวช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ในปีเดียว

เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ
ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2502 - พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศทั่วโลก ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปออสเตรเลีย จำนวนถึง 27 ประเทศ เพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรี กับบรรดามิตรประเทศทั้งหลาย รวมถึงได้ทรงนำความปรารถนาดีของชาวไทย ไปมอบให้แก่ประชาชนในประเทศต่างๆ เหล่านั้นด้วย

พระราชบุตร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถมีพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยกันสี่พระองค์ตามลำดับดังต่อไปนี้
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (พระนามเดิม: สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี; ประสูติ: 5 เมษายน 2494, สถานพยาบาลมงต์ชัวซี เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ได้ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เพื่อทรงสมรสกับนายปีเตอร์ เจนเซ่น ชาวอเมริกัน โดยมีพระโอรสหนึ่งองค์และพระธิดาสององค์ ทั้งนี้ คำว่า "ทูลกระหม่อมหญิง" เป็นคำเรียกพระราชวงศ์ที่มีพระชนนีเป็นสมเด็จพระบรมราชินี
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระนามเดิม: สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร; ประสูติ: 28 กรกฎาคม 2495, พระที่นั่งอัมพรสถาน) ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ นางสุจาริณี วิวัชรวงศ์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ ตามลำดับ โดยมีพระโอรสหนึ่งพระองค์และสี่องค์ กับพระธิดาสองพระองค์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี (พระนามเดิม: สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์; ประสูติ: 2 เมษายน 2498, พระที่นั่งอัมพรสถาน)
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (ประสูติ: 4 กรกฎาคม 2500, พระที่นั่งอัมพรสถาน) ทรงอภิเษกสมรสกับนาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยะศริน โดยมีพระธิดาสองพระองค์ ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 คุณพุ่ม เจนเซ่น พระโอรสของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสียชีวิตจากคลื่นสึนามิ ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547